ประวัติวิทยาลัยฯ
เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536 พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เจ้าอาวาสแห่งวัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำริที่จะสร้างสถานศึกษาให้เป็นสถานศึกษาที่สามารถผลิตบุคลากรให้มีวิชาชีพเพื่อใช้ประกอบวิชาชีพได้ โดยไม่ต้องให้เยาวชนเดินทางไปศึกษาที่อื่น ต่อมา นายสำเร็จ วงศ์ศักดา อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่จะจัดสร้างว่า ควรเป็นสถานศึกษาที่จัดการสอนด้านสายอาชีพหรืออาชีวศึกษา จึงจะเหมาะกับท้องถิ่นดังนั้นจึงได้เกิดโครงการจัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” ขึ้น ซึ่งนายศุภร บุญเนาว์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา เป็นประธานโครงการนี้ และได้มอบหมายให้นายสำเร็จ วงศ์ศักดา และคณะเป็นผู้ประสานงานดำเนินการ จนกระทั่งวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ขึ้น โดย พระเทพวิทยาคม สนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ อาคารหอสมุดอาคารพัสดุกลาง อาคารอำนวยการ บ้านพักครูและนักการภารโรงตลอดจนสาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นตามโครงการในปีการศึกษา 2540 ใช้งบประมาณ ไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาทเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 พระเทพวิทยาคม มอบเงินให้นายสำเร็จ วงศ์ศักดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เพื่อพัฒนาวิทยาลัยฯ และตั้งมูลนิธิจำนวน 50 ล้านบาทการนี้จึงได้สร้างอาคารหอสมุดอนุรักษ์พลังงานใช้งบประมาณในการก่อสร้างราคาตามแบบ 32 ล้านบาท ทีมงาน ศ.ดร.สุนทร บุญญาธิการ ออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน คุณพจน์ ธนโชติ บริษัทคูซ่า ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ให้ความอนุเคราะห์ก่อสร้าง รวมเฟอร์นิเจอร์ภายในราคา 24 ล้านบาท
ปรัชญาวิทยาลัย
“ศิษย์ก็อยากรู้ ครูก็อยากสอน”
ปณิธานในการสร้างวิทยาลัยของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
สร้างขึ้นด้วยจิตเมตตาของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่ต้องการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นและประเทศชาติ
ปณิธานของวิทยาลัย
รากฐานของตึกคืออิฐ รากฐานของชีวิตคือการศึกษา หากต้องการพัฒนาประเทศชาติ
ต้องพัฒนาคนที่เป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าก่อน
วิสัยทัศน์
มุ่งมั่นพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะปฏิบัติงานได้จริงตามต้องการของตลาดแรงงาน
ด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ มีจิตอาสาในการพัฒนาประเทศชาติ
พันธกิจ
พัฒนานวัตกรรมงานวิจัย สร้างองค์ความรู้ใหม่ ให้บริการสังคม และทำนุบำรุง ชาติ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย