ที่ตั้ง
999 หมู่ 6 ถนนด่านขุนทด-หนองสรวง ตำบลด่านขุนทด อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา 32010
ประวัติสถานศึกษาโดยสังเขป
พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่าน-ขุนทด จังหวัดนครราชสีมา นับได้ว่าท่านเป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวรสืบพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อนาบุญที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวงโดยแท้ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านมีความเมตตาช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิ สร้างโรงเรียน ศาสนสถาน โรงพยาบาล สะพาน แหล่งน้ำ ที่ว่าการอำเภอ วิทยาลัยสงฆ์ บริจาคเครื่องมือแพทย์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ให้กับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ นอกจากนั้นท่านยังได้บริจาคทรัพย์ให้เป็นทุนการศึกษาอีกจำนวนมาก เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งหลาย วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536 พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ได้มีจิตเมตตาที่จะสร้างสถานศึกษาให้ถิ่นที่ท่านกำเนิดมา โดยมุ่งหวังอย่างยิ่งที่จะให้เป็นสถานศึกษาสำหรับลูกหลานในท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียงได้ศึกษาต่อ โดยไม่ต้องเดินทางไปศึกษา ณ ที่อื่น ๆ ช่วยประหยัดค่าเทอมและค่าใช้จ่ายในการศึกษา และมุ่งหวังให้เป็นสถานศึกษาที่สามารถผลิตบุคลากรให้มีวิชาชีพในการประกอบอาชีพอย่างมีคุณภาพ ทั้งสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน และคุณธรรมจริยธรรมในการดำรงชีวิตที่จะอยู่ร่วมกันกับคนอื่นในสังคมได้ ที่จะช่วยพัฒนาท้องถิ่น ประเทศชาติ และแก้ปัญหาความยากจนโดยรวมได้ ในการตอบสนองต่อเมตตาจิตของหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ในครั้งนั้น นายสำเร็จ วงศ์ศักดา อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ได้กราบนมัสการเรียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานศึกษาที่จะจัดสร้างว่า ควรเป็นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านสายอาชีพ หรืออาชีวศึกษาจึงจะเหมาะกับท้องถิ่น ดังนั้นจึงได้เกิดโครงการจัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” ซึ่งนายศุภร บุญเนาว์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา เป็นประธานโครงการนี้ และได้มอบหมายให้ นายสำเร็จ วงศ์ศักดา และคณะ เป็นผู้ประสานงานดำเนินการให้โครงการสำเร็จลุล่วง จนกระทั่งวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้ง “วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ” สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นโดยหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ได้มีจิตเมตตาในการสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ อาคารหอสมุด อาคารพัสดุกลาง อาคารอำนวยการ บ้านพักครู และนักการภารโรง ตลอดจนสาธารณูปโภคอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นตามโครงการในปีการศึกษา 2540 ใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 400 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) ได้มอบเงินให้นายสำเร็จ วงศ์ศักดา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เพื่อพัฒนาวิทยาลัยฯ และตั้งมูลนิธิจำนวน 50 ล้านบาท ในการนี้จึงได้สร้างอาคารหอสมุดอนุรักษ์พลังงานสนองเจตนารมณ์แนวคิด ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่ท่านมีเมตตาต่อลูกหลานชาวชนบทฐานะยากจนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เป็นแหล่งวิทยาการ การเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา ได้ค้นคว้าหาความรู้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างราคาตามแบบ 32 ล้านบาท วันพฤหัสบดี ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 ตรงกับวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดวิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ
การจัดการศึกษา
วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ทั้งระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และระดับปริญญาตรี ดังนี้
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ จำนวน 9 สาขาวิชา
สาขางานยานยนต์
สาขางานเครื่องมือกล
สาขางานผลิตภัณฑ์
สาขางานไฟฟ้ากำลัง
สาขางานอิเล็กทรอนิกส์
สาขางานก่อสร้าง
สาขางานสถาปัตยกรรม
สาขางานการบัญชี
สาขางานการตลาด
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง จำนวน 11 สาขาวิชา
สาขางานเทคนิคยานยนต์
สาขางานเครื่องกลอุตสาหกรรม
สาขางานเครื่องมือกล
สาขางานเทคโนโลยีงานเชื่อมโครงสร้างโลหะ
สาขางานไฟฟ้ากำลัง
สาขางานไฟฟ้าควบคุม
สาขางานอิเล็กทรอนิกส์อุตสาหกรรม
สาขางานการก่อสร้าง
สาขางานการบัญชี
สาขางานการตลาด
สาขางานคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
- ระดับปริญญาตรี จำนวน 4 สาขาวิชา
สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า
สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์
สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์
สาขาวิชาเทคโนโลยีบัญชี